ปรับพฤติกรรม ลดโรคความดันโลหิต การลดความดันโลหิตควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมก่อน ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยา
เป้าหมายของการควบคุมความดันโลหิต คือไม่ควรสูงเกิน 140/90 ม.ม./ปรอท
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) หมายถึง ระดับ ความดันโลหิต 140/90 มม.ปรอท หรือมากกว่าซึ่งจะเป็นค่าบน (Systolic Blood Pressure, SBP) หรือ ค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure, DBP) ก็ได้
ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอย่างอื่น บางรายที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ มักมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดที่ท้ายทอย หรือวิงเวียนศีรษะร่วมด้วยได้ และผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิตสูงนานๆ อาจมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย, เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ
ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่าความดันโลหิตสูง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ทำทุกรายแม้ในรายที่ ยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็อาจป้องกันหรือ ชะลอการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
การให้ยาลดความดันโลหิต ไม่จำเป็นต้องเริ่มยาทุกราย และผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจไม่ต้องใช้ยาก็ได้ หากสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าความดันโลหิตไม่ลดลงหลังจากปรับพฤติกรรม เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน จึงจำเป็นต้องใช้ยา
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีการ ข้อแนะนำ ช่วยลดความดันโลหิตได้
การลดน้ำหนัก ให้ดัชนีมวลกาย * (Body mass index) = 18.5-24.9 กก./ตร.ม. 5-20 มม.ปรอท ต่อการลดน้ำหนักตัว 10 กก.
การควบคุมอาหาร ให้รับประทานผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหารโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว 8-14 มม. ปรอท
จำกัดเกลือในอาหาร ไม่ควรบริโภคเกลือมากกว่า 6 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชา หนักประมาณ 5 กรัม) 2-8 มม.ปรอท
การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายชนิด aerobic อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน) 4-9 มม.ปรอท
งดหรือลดแอลกอฮอล์ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 drinks/วัน ในผู้ชาย (ethanol 30 กรัม/วัน เช่น เบียร์ 720 มล., ไวน์ 300 มล. ,วิสกี้ที่ยังไม่ผสม 90 มล.) และไม่เกิน 1 drink/วันในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย 2-4 มม.ปรอท
งดสูบบุหรี่
*(ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (เมตร)2)
ข้อแนะนำในการลดการกินเค็ม
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม กะปิ
หลีกเลี่ยงการเติมเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือซอสปรุงรสในอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว
หลีกเลี่ยงของขบเคี้ยวที่รับประทานแล้วเพลินและมีเกลือมาก เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง มันฝรั่งทอด
ค่อยๆปรับเปลี่ยนนิสัยการบริโภคให้รับประทานจืด
เป้าหมายของการลดความดันโลหิต
ในผู้ป่วยทั่วไป ควรควบคุมให้ความดันโลหิต ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท
ในผู้ป่วยอายุน้อย ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยหลังกล้ามเนื้อหัวใจตาย และผู้ป่วยหลังเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตควรควบคุมให้ความดันโลหิต ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท
โดยจุดประสงค์ คือ เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคสมอง หัวใจ ไต ที่จะก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เนื่องจากร้อยละ 95 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ การรับการติดตามรักษาที่ดีจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยบางรายเมื่อรักษาไประยะหนึ่ง แล้วรู้สึกสบายดีจึงหยุดกินยา ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจึงมาพบแพทย์ ทำให้ไม่สามารถป้องกันทั้งอัมพาต และโรคหัวใจเฉียบพลันได้